Saturday, December 27, 2014

การเพาะเมล็ด

     การเพาะเมล็ดนั้น ก็ควรจะนำเมล็ดมาแช่น้ำก่อนจะปลูก (ผักสลัดอุณหภูมิประมาณ 18-20 องศา ผักไทยก็ประมาณ 25-30 องศา) แช่ประมาณ 3-4 ชั่วโมง ก่อนนำลงไปเพาะครับ


    มาเตรียมอุปกรณ์ในการการเพาะเมล็ดกันเลย ก็หาอุปกรณ์ใกล้ตัวครับ คือ
     1. ทิชชู  
     2. ภาชนะปลูกที่มีฝาปิด 

   พอหาอุปกรณ์สำหรับปลูกได้เรียบร้อย จากนั้นก็ทำการพื้นรองด้วยทิชชูเสียก่อน หลังจากนั้นก็ใส่เมล็ดที่ต้องการปลูกลงไป ถ้าฤดูก็ควรเอาทิชชูทับอีกชั้นเพื่อรักษาความชื้นครับ  แต่พอดีผมปลูกหน้าหนาว ก็ใส่เมล็ดลงไปเสร็จแล้วก็พรมน้ำพอชุ่มๆ  ส่วนภาชนะผมเอากล่องเกี๊ยวจาก 7-11 มาใส่ เพราะว่าเมล็ดผักสลัดเล็กครับ หยับมือเดียวก็ได้หลายต้นแล้ว แรกๆ ใส่ลงไปเยอะเพราะว่ากลัวบางเมล็ดไม่งอก แต่พอรากงอกก็ไม่พอใส่แปลงปลูก สุดท้ายก็จำเป็นต้องทิ้งครับ คัดที่รากงอกยาวๆ ไว้ก่อน


     อันนี้หลังจากเพาะได้ประมาณ 2 วันครับ สังเกตุจะเห็นรากขาวๆ จากเมล็ด อันนี้สามารถนำไปเพาะต่อกับฟองน้ำที่ต้องเตรียมไว้ได้เลยครับ 
     

     พอนำเมล็ดใส่ในฟองน้ำปลูกเสร็จก็ใส่น้ำธรรมดาไปก่อนครับ ประมาณครึ่งก้อนฟองน้ำ พยายามรักษาระดับน้ำไว้ประมาณ 7 วัน ครับ เพราะหลังจากนี้เราต้องเปลียนน้ำ แล้วมาใส่ปุ๋ยน้ำ ระยะนี้สังเกตุว่าจะเริ่มมีใบเลี้ยงออกมา 2 ใบครับ 

Monday, December 22, 2014

เครื่องมือตวง วัด สำหรับปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์

     อุปกรณ์ตวง วัด ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอีกอย่างนึงสำหรับการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ครับ เพราะว่าการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์นั้น เค้าจะมีการกำหนดค่าอัตราส่วนสำหรับธาตุอาหารที่เหมาะสมกับผักแต่ละชนิดมาให้อยู่แล้ว และผักแต่ละชนิดมีความต้องการปริมาณธาตุอาหารไม่เหมือนกัน เช่น ผักไทยกับผัดสลัด ถ้าพวกผักไทย จะต้องใช้ปริมาณธาตุอาหารที่สูงกว่าผักสลัด ถ้าเราให้ปริมาณธาตุอาหาร ไม่ถูกต้อง อาจจะทำให้ผักเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่  และสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุครับ ดังนั้น ถ้าเราจะปลูกผักอะไร ควรจะต้องศึกษาสักหน่อยนะครับ ว่าผักที่เราจะปลูกนั้น ต้องมีค่าธาตุอาหารที่ผสมอยู่ในน้ำปริมาณเท่าไหร่
    ส่วนน้ำ ค่าความเป็นกรด ด่างของน้ำนั้น ก็มีผลอยู่เหมือนกันครับ ผักจะดูดซึมได้ดี ก็ต่อเมื่อน้ำมีสภาวะเป็นกลางครับ ก็ประมาณ 6-7 pH และอุณภูมิของน้ำก็มีผลเช่นกัน ไม่ควรจะร้อนจนเกินไปครับ ก็พยายามเอาถังน้ำไว้ที่ร่มๆ หน่อยครับ

อุปกรณ์วัดปริมาณน้ำ 

    ปกติแล้ว เวลาซื้อปุ๋ยมาเค้าจะกำหนดอัตราส่วนในการผสมไว้ข้างขวดครับ หรือถ้าซื้อแบบแห้งมาผสม ส่วนมากก็จะมีสัดส่วนต่อน้ำ 1 ลิตร ดังนั้นต้องคำนวนให้ดีๆ สำหรับคนไม่มีอุปกรณ์สำหรับวัดค่า EC ครับ เช่น อัตราส่วน 1:100 ซีซี หมายความว่า ปุ๋ย A B 10 ซีซี ต่อ น้ำ 1 ลิตร (1,000 ซีซี เท่ากับ 1 ลิตร) เพราะว่าถ้าปุ๋ยมากไป ผักสลัดจะขม น้อยไปใบจะซีดได้ ซึ่งทั้งสองแบบนี้อาจจะทำให้ผักตายได้ครับ ดังนั้นสำคัญมากต้องกะเกณฑ์ให้ดีๆ ส่วนพวกที่มีเครื่องมือวัดค่า EC ก็จะไม่มีปัญหาสักเท่าไหร่ ดังนั้น เครื่องวัดปริมาณน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างแรกที่ต้องมีครับ


     จากภาพเป็นถ้วยตวงสิ่งที่สำคัญมากครับ ไว้สำหรับวัดปริมาณน้ำ เพื่อเอาไว้ผสมปุ๋ย A B หรือถ้าใครไม่มีก็หาเอาขวดน้ำก็ได้ครับ เค้าจะมีปริมาตรอยู่ข้างขวด เราก็คำนวนอัตราส่วนสำหรับใส่ปุ๋ยลงไป

เครื่องวัดค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำ pH และเครื่องวัดค่า EC

     เครื่องมือวัดทั้งสองอันนี้มีความจำเป็นอยู่พอสมควรครับ ถ้ามีเงินพอจะซื้อได้ก็ซื้อไว้ใช้ดีกว่า อย่างน้อยเครื่องวัดค่า EC สักตัวก็พอแล้วครับ ผมซื้อทั้งสองอันเลย รวมกันแล้ว ไม่เกิน 3,000 บาท ถ้าไม่มีก็หาซื้อกระดาษที่วัดค่าความเป็นกรด-ด่าง มาใช้ก็ดีครับ เพราะส่วนมาก น้ำประปาบ้านเรา จะมีค่าความเป็นด่างอยู่ (ตามมาตรฐาน เข้าใกล้ 0 มีภาวะเป็นกรด และ มากกว่า 6 จะเป็นด่าง) แต่ถ้าไม่มีจริงๆ ก็คำนวนสัดส่วนปุ๋ย AB กับน้ำเอาก็แล้วกันนะครับ

     แถมท้ายนิดนึง เครื่องวัดค่า EC สามารถเอาไว้วัดสิ่งที่เจือปนในน้ำได้ครับ ถ้าใครซื้อแล้วสามารถเอามาลองเล่นใช้วัดสิ่งเจือปนในน้ำขวด แต่ละยี่ห้อ หรือจากเครื่องกรองน้ำที่บ้านดู เพราะว่าน้ำแต่ละแหล่งที่เค้านำมาผลิตน้ำดื่มนั้น ระบบกรองมักจะกรองได้ไม่หมด และสิ่งที่เจือปนในน้ำ อาจจะมีแร่ธาตุทั้งดีและไม่ดีครับ 
   





Monday, December 15, 2014

ธาตุอาหารสังเคราะห์ ปุ๋ย A และ ปุ๋ย B

     อันดับแรก สิ่งที่จำเป็นต้องมี คือ ปุ๋ย A และ ปุ๋ย B 

     เพื่อนๆ อาจจะสงสัยกันว่าไอ้ปุ๋ย A ปุ๋ย B นี่มันคืออะไร เอาปุ๋ยธรรมดา มาผสมน้ำได้มั้ย คำตอบที่ได้คือ ไม่ใช่ครับ ปุ๋ยสำหรับปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์นั้น มันคือธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับผัก และผลไม้ ล้วนๆ ที่สังเคราะห์ ออกมาเป็นผงเคมี ที่ใช้เรียนวิทยาศาสตร์แหละครับ ซึ่งเค้าจะจำแนกมาแล้วว่า ผัก ผลไม้ จำเป็นต้องใช้สารอะไรบ้าง ที่ในการเจริญเติบโต และอยู่ในสัดส่วนที่เท่าไหร่
    แล้วทำไมต้องแยกเป็นปุ๋ย A และ ปุ๋ย B ???
    ก็อาจเป็นเพราะว่า สารเคมีที่จำเป็นในการเจริญเติบโตของพืชผักบางพวกเข้ากันได้ และบางพวกเข้ากันไม่ได้ ถ้าเจอกันอาจจะจับตัวตกตะกอนกันเป็นก้อน ทำให้พืชผักไม่สามารถดูดซึมไปใช้ในการเจริญเติบโตได้
     ดังนั้น ในการผสมปุ๋ย A และ ปุ๋ย B เค้าจึงแนะนำให้ ผสมลงในน้ำห่างกัน ประมาณ 6 ชั่วโมง อย่างต่ำ เพื่อให้สารละลาย ปุ๋ย A ละลายรวมกับในน้ำจนหมดเสียก่อน แล้วจีงนำ ปุ๋ย B ผสมตามลงไป
 

ธาตุอาหาร ปุ๋ย A และ ปุ๋ย B แบบผสมน้ำสำเร็จรูป


ภาพแรก ธาตุอาหาร ปุ๋ย A และ ปุ๋ย B แบบชนิดผสมน้ำสำเร็จรูป

ธาตุอาหาร ปุ๋ย A และ ปุ๋ย B แบบแห้ง

ภาพธาตุอาหาร ปุ๋ย A และ ปุ๋ย B แบบชนิดแห้ง


     จะบอกว่า ปุ๋ยแต่ละเจ้า แต่ละยี่ห้อ อาจจะมีส่วนผสมต่างกันไปบ้าง แล้วแต่ว่าสูตรใคร สูตรมัน ผมเคยเจอในหนังสือ ส่วนผสมธาตุอาหาร สามารถแบ่งออกเป็นได้หลายสูตร เช่น สูตรปลูกตามแต่ละฤดู หรือบางสูตรแบ่งตามประเภท เช่น ผักไทย หรือผักสลัด แต่อันนี้ผมซื้อมาแบบผักสลัดครับ  (การผสมน้ำให้ดูตามสัดส่วนของผักที่ปลูกเป็นหลักครับสำหรับคนที่ไม่อุปกรณ์วัด )
   

Sunday, December 14, 2014

เริ่มต้นกับ การปลูกผัก ไฮโดรโปรนิกส์

เริ่มต้นกับการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ไว้ทานเองที่บ้าน

      สวัสดีครับเพื่อนๆ ผมจะมาแชร์ประสบการณ์ และความรู้ที่ได้ ในการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ไว้ทานเองที่บ้าน ทั้งแบบง่ายๆ ราคาประหยัด และแบบออปชั่นเสริม ตามประสาคนอยากปลูกอยากทดลองแหละครับ
      แรกเริ่มเอง ผมสนใจการปลูกผักแบบนี้มานานแล้ว สืบค้นหารายละเอียดในอินเตอร์เน็ต เก็บรายละเอียดมาพอสมควร เห็นว่ามันน่าจะปลูกง่าย และเก็บไว้ทานเองที่บ้าน จึงศึกษาแบบที่ง่ายที่สุดคือ แบบน้ำนิ่งครับ ง่ายพอสมควร แต่มันก็ต้องมีวิธีการเตรียมอุปกรณ์และเตรียมการกันหน่อยครับ ภาพที่ลงคือ ภาพในสมัยแรก ๆ ที่เริ่มหัดปลูกครับ ก็เรียนรู้ทดลองผิดถูกกันไป ลืมดูแลบ้าง ก็จะมาเล่าประสบการณ์การปลูกให้ทราบกันครับ

     ภาพข้างล่างนี้เป็นรอบสองในการปลูก ล๊อตแรกทดลองปลูกคะน้ากับกวางตุ้ง และผักสลัด เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายไว้ ผลออกมา ก็มีแต่คะน้าที่ไม่ได้เรื่องสักเท่าไหร่ หลังจากทดลองปลูกรอบแรกไปแล้ว รอบนี้ก็เลยแก้มือโดยการทำแปลงปลูกเอง แต่ผลลัพธ์ก็ออกมาไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ แต่ก็พอทานได้ ไม่ขมครับ สาเหตุที่มันสูงๆ ใหญ่ๆ เพราะว่ารอบนี้ปลูกไว้ข้างชายคาบ้านครับ เพราะว่าแดดเดือนเมษาร้อนมาก กลัวว่ามันจะเฉา แล้วก็ไม่ได้เก็บเกี่ยวตามระยะที่กำหนด เลยออกมาสภาพที่เห็น



ภาพแรก อันนี้ทำกางมุ้งไว้ครับ 


อันนี้ทดลองปลูกกับภาชนะเหลือใช้ เดี๋ยวจะมาสอนวิธีทำทีหลังครับ


     ภาพนี้ปล่อยไว้นานไม่ได้เก็บเกี่ยวเลยออกมาแบบนี้ ช่วงห่างแต่ละใบ เกือบ 3 เซนติเมตร แต่ก้านใหญ่มากครับ เท่านิ้วก้อย แต่ก็ไม่ออกรสขมนะครับ

     สุดท้ายจะบอกว่า ผักสลัดปลูกง่ายที่สุดครับ เพราะว่าผักอื่น แมลงมากัดกินใบเยอะ ส่วนผักสลัด ปลูกนอกมุ้งในมุ้ง ได้ผลเหมือนกันคือไม่มีแมลงมากวนครับ วันนี้พอแค่นี้ก่อนนะครับ แล้วเดี๋ยวจะมาเล่าต่อ